เคยสังเกตกันไหมว่า รถยนต์ทั่วไปที่คนไทยเราใช้ขับขี่เต็มท้องถนนนั้น ใช้พลังงานเชื้อเพลิงมากขนาดไหน? ข้อมูลจากธุรกิจพลังงาน ได้เปิดเผยถึงภาพรวมการใช้น้ำมันในปี 63 ที่ผ่านมา แม้ว่าภาพรวมการใช้น้ำมันเฉลี่ยต่อวันจะลดน้อยลงเพราะพฤติกรรมการใช้รถยนต์ที่เปลี่ยนไป แต่ประเทศไทยก็ยังใช้น้ำมันรวมทุกประเภท (เว้นเหล่าก๊าซธรรมชาติ) สูงถึง 137.9 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหลังจากที่คลายล็อกดาวน์
ซึ่งอย่างที่พวกเราต่างรู้ตระหนักกันดีถึงปัญหามลภาวะและโลกร้อนที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ไหนจะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 ที่บั่นทอนสุขภาพในระยะยาว ซึ่งอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดมลภาวะเหล่านี้ก็คือฝุ่นควันที่เกิดจากท่อไอเสียรถยนต์เหล่านี้นี่เอง ดังนั้น บทความนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับ ‘รถยนต์พลังงานไฟฟ้า’ หรือ ‘EV’ ว่าคืออะไร แล้วทำไมถึงเป็นทางเลือกสำคัญแห่งยานยนต์อนาคตกัน
ปัญหาจากรถยนต์แบบเดิม
Electronic car charger รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในต่างประเทศ via Pexels.com
ก่อนที่จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “รถยนต์ไฟฟ้า EV” มาดูกันก่อนดีกว่าว่า ทั้งที่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกต่างรู้จักรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามานานแล้ว แต่ทำไมช่วงที่ผ่านมากระแสรถพลังงานไฟฟ้าถึงได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างมากกันแน่
สาเหตุหลักก็มาจากกระแสเรื่องรักษ์โลกและแนวคิดการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ทวีความนิยมมากขึ้น อย่างที่เรารู้ว่ารถยนต์รูปแบบเดิมใช้พลังงานเชื้อเพลิงเยอะมาก ซึ่งไม่เพียงแค่สิ้นเปลืองเงินในกระเป๋า แต่ยังส่งผลถึงสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากต้องขุดเจาะเชื้อเพลิงที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ เกิดการเผาไหม้แล้วก็เพิ่มปัญหาภาวะโลกร้อน พร้อมฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเราอีกด้วย ทำให้รถยนต์ทางเลือกใหม่ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าได้รับความสนใจมากขึ้นในหลายปีมานี้
รถยนต์ไฟฟ้า EV คืออะไร?
รถ EV คืออะไร? รถ EV คือ รถไม่ใช้น้ำมัน ย่อมาจากคำว่า Electric Vehicle แปลตรงตัวคือ รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า แบบ 100% และมีคุณสมบัติทุกอย่างที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาหลักของรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน สามารถแทนที่รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์เผาไหม้แบบสันดาปภายใน (ICE หรือ Internal Combustion Engine) ที่เราขับกันอยู่ทุกวันนี้ได้ ตั้งแต่เรื่องของชิ้นส่วนรถยนต์ ประสิทธิภาพของยานยนต์ ค่าใช้จ่าย และประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม
-
ชิ้นส่วนที่ต้องการการบำรุงรักษาของรถยนต์ไฟฟ้า EV มีน้อยกว่า
รถยนต์ไฟฟ้า EV มีชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ น้อยกว่ารถยนต์ทั่วไป เช่น ไม่มีระบบเครื่องยนต์-ชุดเกียร์ และส่วนที่ทำหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนรถยนต์ก็ใช้เพียงแค่แบตเตอร์รี่ อุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้า และมอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น ทำให้การดูแล ซ่อมแซมไม่สร้างภาระหนักเท่ารถยนต์แบบเดิม ไม่ว่าจะน้ำมันเครื่องหรือน้ำมันเกียร์ก็ไม่ต้องมาคอยเปลี่ยน แถมการทำงานไม่ซับซ้อน ซ่อมง่าย ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จเรียบร้อย
-
ประสบการณ์การขับขี่ที่เงียบและเหนือระดับกว่า
หากคุณเคยลองสัมผัสกับรถยนต์ไฟฟ้า EV สักครั้งจะต้องติดใจ เพราะว่าให้ประสบการณ์การขับที่เหนือระดับจริง ทั้งในเรื่องของความเงียบจากการที่ไม่มีเครื่องยนต์คอยทำงานเผาไหม้เสียงดังหรือเครื่องทำงานกระชาก สามารถควบคุมอัตราการเร่งได้ตามที่ใจต้องการ ขับลุยน้ำได้ในกรณีฉุกเฉินไม่ก่อให้เกิดปัญหา เพียงแต่ต้องศึกษาข้อควรระวังให้ดีว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ในรุ่นนั้นๆ มีระบบที่เรียกว่า Hydrolock หรือไม่
-
ในระยะยาวจะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า
นอกจากจะประหยัดในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแล-ซ่อมแซมส่วนต่างๆ แล้ว ค่าใช้จ่ายพวกพลังงานขับเคลื่อนรถยนต์ก็ถูกกว่าหลายเท่า ซึ่งมีผู้ใช้งานรถยนต์ EV เคยออกมาเปิดเผยว่า สามารถ ประหยัดค่าใช้จ่ายต่อเดือนไปได้หลายพันเลยทีเดียว ซึ่งในจุดนี้ ทำให้ใครที่เลือกรถยนต์แบบสันดาป เพราะผ่อนต่อเดือนถูกอาจจะต้องคิดใหม่ หากเทียบค่าใช้จ่ายบำรุงดูแลและค่าพลังงานแล้วรถยนต์ไฟฟ้าอาจถูกกว่าก็เป็นได้ แถมจะชาร์จแบตเตอร์รี่จากตามสถานีชาร์จหรือที่บ้าน เพื่อความสะดวกสบายและประหยัดเวลาก็ได้เช่นกัน นับเป็นทางเลือกยานยนต์ที่น่าสนใจมากที่เดียว
-
ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม
ต่อไป “รักษ์โลก” และ “ดูแลสิ่งแวดล้อม” จะไม่ใช่แค่กระแส แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องลงมือทำ จะเห็นได้จากนโยบายหลากหลายประเทศที่เริ่มออกมารองรับ การใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV มากขึ้น รวมถึงไทยเองที่มีนโยบายภาษีแบตเตอร์รี่ต่ำกว่า ลดภาษีสรรพสามิต ส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้ผลิต ฯลฯ เพราะถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และสามารถเลี่ยงการใช้พลังงานสิ้นเปลือง เน้นใช้พลังงานสะอาดอย่างพลังงานไฟฟ้า ไม่ก่อให้เกิดการเผาไหม้จนส่งผลกระทบต่อมลภาวะ
แนวโน้มของรถยนต์ไฟฟ้า EV ในไทย
EV charger รถยนต์พลังงานไฟฟ้า Tesla via Unsplash
หลังจากทำความรู้จักกับ รถยนต์ไฟฟ้า EV มาคร่าวๆ แล้ว มาดูกันดีกว่า ว่า แนวโน้มของ ‘รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทย’ จะเป็นยังไงกันต่อไป
-
ความต้องการของผู้บริโภค
จากข้อได้เปรียบต่างๆ ที่เรานำมาฝากข้างต้น คงจะทำให้ผู้ประกอบการหลายท่านที่ได้อ่านอยากลองสัมผัสกับรถยนต์ไฟฟ้า EV บ้างไม่มากก็น้อย ผู้บริโภคที่ต้องใช้รถใช้ถนนเองก็เหมือนกัน สอดคล้องกับสถิติของช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดรถพลังงานไฟฟ้ามีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ทั่วโลกสร้างยอดขายได้มากกว่า 3 ล้านคัน ในปี 2020 แม้ตลาดรถยนต์จะหดตัว จากผลกระทบของโควิด-19 บางคนอาจจะคิดในใจว่า ก็ผู้บริโภคชาวต่างชาติมีเงินพอที่จะลองใช้รถ EV กันอยู่แล้ว ลองหันมาดูประเทศที่ GDP หดตัวอย่างไทยสิ ขอบอกเลยว่า อย่าได้ดูถูกตลาดรถ EV เล็กๆ ในประเทศไทยเด็ดขาด เพราะถึงตลาดรถยนต์ใหม่ในไทยจะหดตัวถึง 21% แต่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยกลับขยายตัวถึง 13% นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์กันเอาไว้ว่า ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอาจขยายตัวสูงถึง 34% ภายในปี 2030 เลยทีเดียว
-
ผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการ
ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยน ผู้ประกอบการก็ต้องเปลี่ยนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานมากกว่า 8 แสนตำแหน่งทั่วไทย เป็นโซ่การผลิตที่มีกำลังแข็งแกร่ง แนวโน้มต่อไปที่อาจเกิดขึ้นคือ หากผู้ประกอบการเดิมไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับสายผลิตอะไหล่รถยนต์เชื้อเพลิงแบบสันดาปหรือให้บริการเชื้อเพลิงน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติต่างๆ ไม่ยอมปรับตัว อาจได้รับผลกระทบหนักจากความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้า EV อาจได้รับความนิยมสูงขึ้น
ส่วนกลุ่มที่ยังเรียกได้ว่ายังคงปลอดภัย สบายใจหายห่วงได้อยู่ก็คือ กลุ่มที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบเท่าไหร่ เพราะยังคงผลิตสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ในรถยนต์ทุกประเภท เช่น ยางรถยนต์ เบาะ ระบบแบตเตอร์รี่ แผงวงจร ฯลฯ
ในส่วนของพาหนะอื่นๆ ที่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะอย่างบริการรถสาธารณะ รถรับจ้าง ฯลฯ ก็อาจจะต้องคอยตามข่าวสาร เพื่อปรับตัวบางอย่างให้ให้เข้ากับอุปสงค์-อุปทานในตลาดต่อไปบ้าง
หากมีการสร้าง Roadmap ที่ชัดเจน มีการผลักดันจากนโยบายจากรัฐ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรมก็อาจจะได้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังมีข้อจำกัดเป็นอุปสรรคบ้างเล็กน้อย เช่น การออกนโยบายภาครัฐยังไม่ชัดเจน ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามา ณ ปัจจุบัน แม้จะปลอดภาษี 0% แต่ยังคงสูงเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่คนไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน การผลิตในประเทศชะลอตัว และจุดให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่ทั่วถึง ในส่วนของภาคประชาชนก็ยังไม่มีความตื่นตัวเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเท่าใดนัก
สรุป
ถึงแม้ว่า ตอนนี้ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า EV ภายในประเทศไทยจะเจออุปสรรคอยู่มาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ที่น่าจับตามองจริงๆ เพราะมีแนวโน้มขยายตัวดีมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา หากผู้ประกอบที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนยานยนต์การท่านไหนที่สนใจจะลงทุน ปรับแผนกลยุทธ์ หรือผู้บริโภคท่านไหนที่อยากตัดสินใจซื้อก็อาจจะต้องเร่งศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุนกันต่อไป
ท้ายที่สุดนี้ ไทยปาร์คเกอร์ไรซิ่ง ในฐานะผู้นำทางด้านเทคโนโลยีการเคลือบเตรียมผิวและชุบโลหะสำหรับวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย รวมทั้งลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ยังคงยืนหยัดในการทำวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโซลูชันที่มีประสิทธิภาพสำหรับความต้องการของลูกค้า
ผลิตภัณฑ์เคลือบเพื่อรองพื้นก่อนทำสีเช่นสังกะสีฟอสเฟตบนชิ้นงานเหล็ก หรือนอน-โครเมี่ยม โดยสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการเคลือบเตรียมผิวได้โดยการใช้ Scanning Electron Microscope (SEM)